ความรู้เกี่ยวกับการอ่าน

ความหมายของการอ่าน
          การอ่าน คือ กระบวนการที่ผู้อ่านรับรู้สาร ซึ่งเป็รความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความคิดเห็นที่ผู้เรียนถ่านทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การที่ผู้อ่านจะเข้าใจสารได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถในการใช้ความคิด

ความสำคัญของการอ่าน
          การอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนโต และจนกระทั่งถึงวัยชรา การอ่านทำให้รู้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกซึ่งปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้ผู้อ่านมีความสุขมีความหวัง และมีความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นความต้องการของมนุษย์ทุกคน การอ่านมีประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง คือพัฒนาการศึกษา พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้เป็นคนทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์และมีความอยากรู้อยากเห็น การที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้ต้องอาศัยยประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งความรู้ต่างๆ ก็ได้มาจากการอ่านนั่นเอง

จุดมุ่งหมายของการอ่าน
          ๑. อ่านเพื่อความรู้ ได้แก่ การอ่านจากหนังสือตำราทางวิชาการ สารคดีทางวิชาการ การวิจัยประเภทต่างๆ หรือการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ควรอ่านอย่างหลากหลาย เพราะความรู้ในวิชาหนึ่งอาจนำไปช่วยเสริมในอีกวิชาหนึ่ง
          ๒. อ่านเพื่อความบันเทิง ได้แก่ การอ่านจากหนังสือประเภทสารคดีท่องเที่ยว นวนิยาย เรื่องสั้นเรื่องแปล การ์ตูน บทประพันธ์ บทเพลง แม้จะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ผู้อ่านจะได้ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องด้วย
          ๓. อ่านเพื่อทราบข่าวสารความคิด ได้แก่ การอ่านจากหนังสือประเภทบทความ บทวิจารณ์ข่าว รายงานการประชุม ถ้าจะให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต้องเลือกอ่านให้หลากหลาย ไม่เจาะจง อ่านเฉพาะสื่อที่นำเสนอตรงกับความคิดของตน เพราะจะทำให้ได้มุมมองที่กว้างขึ้น ช่วยให้มีเหตุผลอื่นๆ มาประกอบการวิจารณ์ วิเคราะห์ได้หลายมุมมองมากขึ้น
          ๔. อ่านเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทางแต่ละครั้ง ได้แก่ การอ่านที่ไม่ได้เจาะจงแต่เป็นการอ่านในเรื่องที่ตนสนใจหรืออยากรู้ เช่น การอ่านประกาศต่างๆ  การอ่านโฆษณา แผ่นพับ

มารยาทในการอ่าน
         มารยาททั่วๆ ไปในการอ่านมีดังนี้
         ๑. ไม่ควรอ่านเรื่องที่เป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น เช่น จดหมาย สมุดบันทึก
         ๒. ในขณะที่มีผู้อ่านหนังสือไม่ควรชะโงกไปอ่านข้างหลังให้เป็นที่รำคาญและไม่ควรแย่งอ่าน
         ๓. ไม่อ่าออกเสียงดังในขณะที่ผู้อื่นต้องการความสงบ
         ๔. ไม่แกล้งอ่านเพื่อล้อเลียนบุคคลอื่น
         ๕. ไม่ควรถือวิสาสะหยิบหนังสอของบุคคลอื่นมาอ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต
         ๖. ไม่อ่านหนังสือเมื่ออยู่ในวงสนทนาหรือมีการประชุม
        ๗. เมื่ออ่านหนังสือในห้องสมุด หรือสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้อ่านหนังสือดดยเฉพาะ ไม่ส่งเสียงดัง ควรปฏิบัติตามระเบียบกฏเกณฑ์ของสถานที่เหล่านั้นอย่างเคร่งครัด


การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

          การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้โดยการเปล่งเสียงและวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยมและความเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน มีการใช้ลีลาของเสียงไปตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์นั้นๆ ไปสู้ผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับเรื่องราวหรือรสของบทประพันธ์

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการอ่านออกเสียงร้อยแก้วมีดังนี้
          ๑. ก่อนอ่านควรศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ โดยศึกษาสาระสำคัญของเรื่องและข้อความทุกข้อความ เพื่อจะแบ่งวรรณตอนในการอ่านได้อย่างเหมาะสม
          ๒. อ่านออกเสียงดังพอเหมาะกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง ให้ผู้ฟังได้ยินทั่วกัน ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
          ๓. อ่านให้คล่องฟังรื่นหูและออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ชัดถ้อยชัดคำ โดยเฉพาะตัว ร ล หรือคำควบกล้ำต้องออกเสียงให้ชัดเจน
          ๔. อ่านออกเสียงให้เป็นเสียงพูดอย่างธรรมชาติที่สุด
          ๕. เน้นเสียงและถ้อยคำตามน้ำหนักความสำคัญของใจความ ใช้เสียงและจังหวะให้ เช่น ดุ อ้อนวอน จริงจัง โกรธ ฯลฯ
          ๖. อ่านออกเสียงให้เหมาะกับประเภทของเรื่อง รู้จักใส่อารมณ์ให้เหมาะสมตามเนื้อเรื่อง
          ๗. ขณะที่อ่านรควรสบสายตาผู้ฟังในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ
          ๘. การอ่านในที่ประชุมต้องจับหรือถือบทอ่านให้เหมาะสม และยืนทรงตัวในท่าที่สง่า

          ตัวอย่างบทร้อยแก้ว
          ในที่สุด / เสียงทุกอย่างก็หมดไป / คงเหลือแต่เสียงลม / เสียงฝน / และเสียงกระแสน้ำกระทบผ่านต้นอ้อ / ต้นแขม / และรากลำพูที่ริมตลิ่ง / ธรรมชาติยังคงสำแดงอำนาจอันมหึมา / โดยปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ / เช้าวันต่อมา / พระอาทิตย์ทอแสงอัยแจ่มใสเมื่อรุ่งอรุณ / น้ำฝนติดอยู่ตามใบไม้ / กอหญ้า / ต้องแสงอาทิตย์เป็นประกาย / เมฆฝนที่ทะมึนอยู่เมื่อกลางคืน / คงเหลือในสภาพเหมือนปุยนุ่นเล็กๆ / ที่ถูกลมพัดปลิวไปติดขอบฟ้า / นกยางฝูงหนึ่ง / บินผ่านท้องน้ำ / ตรงคุ้งสำเภาไปอย่างเชื่องช้า / มุ่งหน้าไปหากินกลางทุ่ง / ธรรมชาติลืมโทสะ / ที่บังเกิดเมื่อตอนกลางคืนนั้นแล้วสิ้น / และเริ่มวันใหม่ด้วยอาการอันแจ่มใส / เหมือนกับเด็ก / ที่ยิ้มเบิกบานทั้งน้ำตา


วิดีโอการอ่านร้อยแก้วและมารยาทในการอ่าน


การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง

                การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง เป็นการอ่านที่มุ่งให้เกิดความเพลิดเพลิน ซาบซึ้งในรสของคำประพันธ์ ซึ่งจะต้องอ่านอย่างมีจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองตามลักษณะคำประพันธ์แต่ละชนิด

การอ่านบทร้อยกรองอ่านได้ ๒ แบบ ดังนี้
          ๑. อ่านออกเสียงธรรมดา เป็นการอ่านออกเสียงพูดตามปกติเหมือนกับการอ่านร้อยแก้ว แต่มีจังหวะวรรคตอน
          ๒. อ่านเป็นทำนองเสนาะ เป็นการอ่านมีสำเนียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้น เป็นทำนองเหมือนเสียงดนตรี มีการเอื้อนเสียง เน้นสัมผัส ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองตามลักษณะบังคับของบทประพันธ์ให้ชัดเจนและเหมาะสม

หลักเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงร้อยกรอง
          ๑. ศึกษาลักษณะบังคับของคำประพันธ์ เช่น การแบ่งจังหวะจำนวนคำ สัมผัสเสียง วรรณยุกต์ เสียงหนักเบา เป็นต้น
          ๒. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์
          ๓. อ่านออกเสียง ร ล คำควบกล้ำให้ชัดเจน
          ๔. อ่านออกเสียงดังให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
          ๕. คำที่รับสัมผัสกันต้องอ่านเน้นเสียงให้ชัดเจน ถ้าเป็นสัมผัสนอกต้องทอดเสียงให้มีจังหวะยาวกว่าธรรมดา
          ๖. มีศิลปะในการใช้เสียง เอื้อนเสียง และทอดจังหวะให้ช้าจนจบบท

          ข้อควรคำนึงถึงในการอ่านบทร้อยกรอง
          การอ่านบทร้อยกรองหรือทำนองเสนาะให้ไพเราะและประทับใจผู้ฟัง มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
          ๑. ก่อนอ่านทำนองเสนาะควรรักษาสุขภาพให้ดี มีความพร้อมทั้งกายและใจ จะช่วยให้มั่นใจมากขึ้น
          ๒. ตั้งสติให้มั่นคง ไม่ตื่นเต้น ตกใจ หรือประหม่า ควรมีสมาธิก่อนอ่านและขณะกำลังอ่าน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
          ๓. ก่อนอ่านควรตรวจดูบทอ่านอย่างคร่าวๆ และรวดเร็ว เพื่อพิจารณาคำยากหรือการผันวรรณยุกต์ และอื่นๆ
          ๔. พิจารณาบทที่จะอ่าน เพื่อตัดสินใจเลือกใส่อารมณ์ในบทอ่านให้เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อความ
          ๕. หมั่นศึกษาและฝึกฝนการอ่านทำนองเสนาะจากผู้รู้เกี่ยวกับกลวิธีต่างๆ อยู่เสมอ จึงจะทำให้สามารถอ่านทำนองเสนาะได้อย่างไพเราะ

จังหวะการอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
          จังหวะการอ่านออกเสียงบทร้อยกรองแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามจำนวนคำในแต่ละวรรค และจังหวะของการลงสัมผัส ดังนี้

          การอ่านกลอนสุภาพหรือกลอนแปด
          วิธีการอ่านดังนี้
          ๑. วรรคหนึ่งแบ่งเป็น ๓ จังหวะ คือ จังหวะ ๓ คำ ๒ คำ และ ๓ คำ ตามลำดับ
          ๒. คำสุดท้ายวรรคที่เป็นคำเสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ
          ๓. คำสุดท้ายของบท เอื้อนเสียงต่ำเป็นพิเศษ
          ๔. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนผังบังคับ ต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นลง

การอ่านกาพย์ยานี ๑๑
          กาพย์ยานี ๑๑ มีวิธีการอ่านดังนี้
          ๑. แบ่งจังหวะการออกเสียงเป็นวรรคหน้า ๕ คำ แบ่งเป็นจังหวะ ๒ คำ และจังหวะ ๓ คำ วรรคหลัง ๖ คำ แบ่งเป็น ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ
          ๒. คำสุดท้ายวรรคที่เป็นคำเสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ
          ๓. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นเข้า



วิดีโอการอ่านกาพย์ยานี ๑๑

การอ่านโคลงสี่สุภาพ
          โคลงสี่สุภาพมีวิธีการอ่านดังนี้
          ๑. อ่านทอดเสียงให้ตรงตามจังหวะของแต่ละวรรค วรรคหน้าแต่ละบาทมี ๒ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ และ ๓ คำ วรรคหลังบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ มี ๑ จังหวะ เป็นจังหวะ ๒ คำ ถ้ามีคำสร้อยก็เพิ่มอีก ๑ จังหวะ เป็นจังหวะ ๒ คำ วรรคหลังบาทที่ ๒ มี ๑ จังหวะ เป็นจังหวะ ๒ คำ วรรคหลังบาทที่ ๔ มี ๒ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ
          ๒. คำท้ายวรรคที่ใช้คำเสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ ตามปกติโคลงสี่สุภาพที่แต่งถูกต้องและไพเราะ ใช้คำเลียงจัตวาตรงคำท้ายของบาทที่ ๑ หรือคำท้ายบท
          ๓. เอื้อนวรรคหลังบาทที่ ๒ ให้เสียงต่ำกว่าปกติ
          ๔. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นเข้า



วิดีโอการอ่านโคลงสี่สุภาพ


การอ่านจับใจความ

          การอ่านจับใจความ คือ การอ่านเพื่อจับใจความหรือข้อคิด ความคิดสำคัญหลักของข้อความหรือเรื่องทรี่อ่านเป็นข้อความที่คลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้าหนึ่งๆ ไว้ทั้งหมด

หลักการอ่านจับใจความสำคัญ
          ๑. ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านให้ชัดเจน
          ๒. อ่านเรื่องราวอย่างคร่าวๆ พอเข้าใจ และเก็บใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า
          ๓. เมื่ออ่านจบให้ตั้งคำถามกับตนเองว่า เรื่องที่อ่านมีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
          ๔. นำสิ่งที่สรุปได้มาเรียบเรียงใจความสำคัญใหม่ด้วยสำนวนของตนเอง เพื่อให้เกิดความสละสลวย

การแยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
          ข้อเท็จจริง หมายถึง ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง
          ข้อคิดเห็น หมายถึง ความเห็น ความรู้สึกนึกคิดของผู้ส่งสารที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา

ลักษณะของข้อเท็จจริง
                ๑. มีความเป็นไปได้
          ๒. มีความสมจริง
          ๓. มีหลักฐานเชื่อถือได้
          ๔. มีความสมเหตุสมผล
ลักษณะของข้อคิดเห็น
          ๑. เป็นข้อความที่แสดงความรู้สึก
          ๒. เป็นข้อความที่แสดงการคาดคะเน
          ๓. เป็นข้อความที่แสดงการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย
          ๔. เป็นข้อความที่เป็นข้อเสนอแนะ หรือเป็นความคิดของผู้พูดและผู้เขียนเอง

            ตัวอย่างข้อความทีเป็น้อคิดเห็น
          ๑. กดเวที หมายถึง สนองคุณท่าน ( พิสูจน์ได้โดยค้นความหมายจาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ )
          ๒. ดวงตาเป็นอวัยวะที่ทำให้มองเห็น ( พิสูจน์ได้ด้วยหลักวิชาการ )
          ๓. ทุกคนหนีไม่พ้นความตาย ( พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ )

          ตัวอย่างข้อความที่เป็นข้อคิดเห็น
          ๑. การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด ( ไม่มีข้อวินิจฉัย )
          ๒. คนเรียนเก่งย่อมประสบผลสำเร็จในชีวิตเสมอ ( ไม่มีข้อยืนยัน )
          ๓. การรับประทานแต่ผักไม่น่าจะเป็นผลดีต่อร่างกาย ( ไม่มีข้อยืนยัน )


วิดีโอการอ่านการอ่านจับใจความ

การอ่านงานเขียนเชิงอธิบาย คำสั่ง ข้อแนะนำ และปฏิบัติตาม

          เป็นการอ่านเพื่อค้นคว้าข้อมูลความรู้หรือวิธีการนำไปใช้ ซึ่งต้องอ่านอย่างละเอียดให้ได้ความครบถ้วน จึงจะได้รับสิ่งที่ต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง
          งานเขียนเชิงอธิบาย คำสั่ง ข้อแนะนำ เช่น คำแนะนำการใช้พจนานุกรม การใช้วัสดุอุปกรณ์ข้อแนะนำและคำเตือนบนฉลากยา คู่มือและเอกสารของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ข่าวสารทางราชการ เป็นต้น

การเลือกอ่านหนังสือที่มีคุณค่าตามความสนใจ
          หนังสือมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีรายละเอียดหรือโครงสร้างแตกต่างกันไปตามลักษณะของหนังสือ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
          ๑. หนังสือที่ให้ความรู้และข่าวสาร
          เป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างสม่ำเสมอ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น หนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ สารคดี เป็นต้น
          ๒. หนังสือที่ให้ความบันเทิง
            เป็นหนังสือที่อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายอารมณ์ และให้ข้อคิดต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งควรอ่านในยามว่าง เช่น การ์ตูน นิทาน นิยาย เป็นต้น